ประวัติเทศบาลเมืองนราธิวาส

ความเป็นมาเทศบาลเมืองนราธิวาส

         ได้มีพระราชกฤษฏีกาจัดเขตชุมชนในตำบลที่ตั้งศาลาว่าการจังหวัดนราธิวาส เป็นเทศบาลเมือง
นราธิวาสจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๙ และได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาล
เมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๙๙ มีพื้นที่ทั้งหมด ๗.๕ ตารางกิโลเมตร

          เทศบาลเมืองนราธิวาส มีพื้นที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางนราและฝั่งทะเลอ่าวไทย ดังนั้นจึง
ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงามเป็นธรรมชาติเทศบาลเมืองนราธิวาส มีประชากรจำนวน
๔๑,๘๒๕ คน ชาย ๒๐,๔๗๔ คน และ หญิง ๒๑,๓๕๑ คน จำนวนบ้าน ๑๕,๕๐๖ หลัง (ณ เดือน
ธันวาคม ๒๕๖๒) ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำการประมงขนาดเล็กนอกจากนั้นยังมีการ
ประกอบธุรกิจการค้าธุรกิจการพาณิชย์และธุรกิจการบริการบ้าง ส่วนการอุตสาหกรรมในเขต
เทศบาลส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น โรงงานยาง โรงงานทำผ้าบาติก – ปาเต๊ะ
แพปลา ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นการสร้างอาชีพให้กับประชาชนในชุมชน สินค้าพื้นเมือง
ซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อและสร้างรายได้ให้ประชาชนในเขตเทศบาลได้แก่ ข้าวเกรียบปลาย น้ำบูดู
ผ้าบาติก เรือกอและจำลอง และจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลนับถือศาสนาอิสลาม
จึงทำให้ประเพณีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น การแต่งกาย ศิลปะ
การแสดงพื้นเมือง เช่น ซีละ(ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว) ลิเกฮูลู (การขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะ)
รองเง็ง (การแสดงพื้นเมือง) กรือโต๊ะ (กลองที่มีลักษณะคล้ายโอ่งใช้ตีในงานพิธีสำคัญๆ) บานอร์
(กลองที่มีลักษณะแบน ใช้ตีในงานพิธีต่างๆ)

         ปัจจุบันสำนักงานเทศบาลเมืองนราธิวาส ตั้งอยู่ที่ ถนนพิชิตบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
เทศบาลเมืองนราธิวาส ได้รับการพัฒนาในหลายๆด้าน สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นมากขึ้น
อาคารบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่ต่าง ๆ มีความสะอาดและความเป็นระเบียบ
เรียบร้อยมากยิ่งขึ้นแม้ว่าในเขตเทศบาลจะมีประชากรนับถือศาสนาที่แตกต่างกันแต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา
และอุปสรรคในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประชาชนในท้องถิ่นต่างยึดถือระเบียบ
ประเพณีอย่างเคร่งครัด ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข สิ่งเหล่านี้จึงช่วยเสริมให้เมืองนราธิวาสน่าอยู่ยิ่งขึ้น
ดังคำขวัญ “เมืองนรา น่าอยู่”

          สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งและอาณาเขต เทศบาลเมืองนราธิวาสตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำบางนรา
โดยมีเขตเทศบาล ดังนี้

          ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลหลวง ห่างจากฝั่งเป็นระยะ ๑๐ เมตร
และห่างจากปากแม่น้ำบางนราไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะ ๑,๖๐๐ เมตรเป็นเส้นขนาน
กับริมทะเลหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ถึงปากแม่น้ำบางนรา ห่างจากทะเลไปทางทิศเหนือ
ระยะ ๑๐ เมตร ซึ่งเป็นหลักเขตที่ ๒

          ด้านตะวันออก จากหลักเขตที่ ๒ เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้ ถึงฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำ
บางนราและเลียบตามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางนราไปทางทิศใต้ถึงปากคลองยะกัง เป็นหลักเขตที่ ๓

          ด้านใต้ จากหลักเขตที่ ๓ เลียบตามฝั่งเหนือของคลองยะกังไปทางตะวันตกถึงปากคลองขุด
ซึ่งเป็นหลักเขตที่ ๔

          ด้านตะวันตก จากหลักเขตที่ ๔ เลียบตามฝั่งตะวันออกของคลองขุด ไปทางทิศเหนือ
ถึงฟากใต้ของถนนสุริยะประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหลักเขตที่ ๕

 

ความหมายของตราเทศบาล

          เครื่องหมายของเทศบาลเมืองนราธิวาส มีรูปเป็นพญานาค
พันภูเขา ความหมายของตรานี้ คือ เทศบาลเมืองนราธิวาสนั้น
เดิมชื่อตำบลบางนาค ต่อมาราว พ.ศ. ๒๔๕๕ ตำบลนี้เปลี่ยน
เป็นชื่อตำบลบางนรา ตามชื่อของจังหวัด แต่ประชาชนพื้นเมือง
ยังเรียกว่าตำบลบางนาค พลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม
เรียกว่าตำบลบือนาฆอ หรือ บางนาคนั่นเอง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒
 กองการเทศบาลได้มีหนังสือตรง ต่อผู้ตรวจการเทศบาล
ให้แจ้งเทศบาล จัดทำตราเครื่องหมายของแต่ละเทศบาล
ให้มีความหมาย ตามประวัติศาสตร์ของท้องที่
เทศบาลเมืองนราธิวาสจึงมีความเห็นว่า ควรมีรูปพญานาค
ซึ่งมาจากคำว่าบางนาคอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังพิจารณากันต่อไปว่า
ภูมิประเทศอันเด่นชัด อันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในเขตจังหวัด
นราธิวาส และอยู่ใกล้ชิดกับเขตเทศบาล คือ ภูเขาตันหยง ซึ่งตั้ง
อยู่บริเวณชายหาด ริมทะเลทางทิศตะวันออก ของเขตเทศบาล ห่างจากเทศบาลวัดเส้นตรงราว ๓ 
กิโลเมตร จึงควรรวมภูเขาตันหยง ไว้เป็นเครื่องหมายเทศบาลด้วย ตัวพญานาค คือ ตำบลบางนาค
พันภูเขามีความหมายตรงว่า “เทศบาลเมืองนราธิวาส”